การประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ (ประเภท 1, 2, 3) โดย e-insuran.com

มาทำความเข้าใจกันอย่าง ง่าย ๆ  กับการประกันภัยรถยนต์ ภาคสมัครใจ  โดยขอสรุป สาระที่สำคัญ ๆ อย่าง ย่อ ๆ  ที่เป็นสาระหลัก ๆ  กันก่อน  ดังนี้นะครับ

การประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ  (ประเภท 1)    คือการประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการใช้รถยนต์ แบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ  คือ

1. ความคุ้มครองความเสียหายหรือสูญหายของรถยนต์
2. ความคุ้มครองความรับผิดชอบในความเสียหายต่อบุคคลภายนอก


ความคุ้มครองความเสียหายหรือสูญหายของรถยนต์ ได้แก่  ความเสียหายที่เกิดจาก การใช้รถ เช่น การชนกับวัตถุอื่น ๆ  การคว่ำ  รวมทั้งการเสียหายจากภัยธรรมชาติต่าง ๆ  นอกจากนี้ ยังได้รับความคุ้มครองในกรณีที่ ถูกบุคคลอื่นกลั่นแกล้ง เช่น การนำวัตถุแหลมคมมาขีดข่วน   จะเห็นได้ว่าความคุ้มครองส่วนนี้ครอบคลุมถึงสาเหตุของความเสียหายที่กว้างมาก

ความคุ้มครองความรับผิดชอบต่อความเสียหายต่อบุคคลภายนอก  แบ่งออกเป็น 2  ส่วนคือ

1. ความบาดเจ็บและ/หรือ เสียชีวิต ต่อบุคคลภายนอก
2. ความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก


ประเด็นที่สำคัญคือ คำว่าบุคคลภายนอก หมายถึงใครบ้าง

กรณีความบาดเจ็บและ/หรือ เสียชีวิต บุคคลภายนอกจะหมายถึง  บุคคลใด ๆ  ที่ไม่ใช่ ผู้ขับขี่ที่เป็นฝ่ายต้องรับผิดตามกฎหมาย  หรือเป็น ลูกจ้างในทางการที่จ้างของผู้ขับขี่   คู่สมรส  บิดามารดา และบุตรของผู้ขับขี่นั้น

กรณี ความเสียหายต่อทรัพย์สิน    ทรัพย์สินที่เสียหายที่จะได้รับการชดใช้ต้องไม่ได้เป็นของผู้เอาประกันภัย หรือ ผู้ขับขี่ที่เป็นฝ่ายต้องรับผิดตามกฎหมาย   หรือเป็นของคู่สมรส   บิดามารดา และบุตรของผู้เอาประกันภัย หรือผู้ขับขี่นั้น  (หรือแม้เป็นเพียงผู้เก็บรักษา ควบคุม หรือครอบครอง ก็จะไม่ได้รับความคุ้มครองเช่นเดียวกัน)

ในการชดใช้ความเสียหาย สำหรับความบาดเจ็บและ/หรือ เสียชีวิต ต่อบุคคลภายนอก จะแบ่งเป็น 2 กรณี  คือ

1. กรณีการบาดเจ็บการชดใช้จะชดใช้ค่ารักษาพยาบาลตามที่ได้จ่ายจริง
2. กรณีการเสียชีวิต  การชดใช้  จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่น้อยกว่า100,000.-บาทต่อคนในกรณีที่บุคคลภายนอกทุพพลภาพถาวร บุคคลภายนอกนั้นจะได้รับชดใช้ขั้นต่ำ 300,000 บาท หรือในกรณีที่บุคคลภายนอกเสียชีวิต และการเสียชีวิตทำให้มีผู้ขาดไร้อุปการะ ผู้ขาดไร้อุปการะมีสิทธิได้รับชดใช้ขั้นต่ำ 300,000 บาท

อย่างไรก็ตามความรับผิดของบริษัทประกันภัย จะมีไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัยต่อคนที่ระบุในกรมธรรม์ และในกรณีที่ผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต มีมากกว่า 1 คน ความรับผิดของบริษัทประกันภัย จะมีไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัยต่อครั้งตามที่ระบุในกรมธรรม์ 

ต่อไปนี้ จะเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับการประกันภัยรถยนต์ที่พบมาก   โดยที่บรรดาบริษัทประกันภัย จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม หรือบางทีอาจจะเป็น พนักงานเจ้าหน้าที่ของบริษัท ที่มักจะใช้ช่องทางนี้ในการเรียกเก็บเงินจากผู้เอาประกันภัย  ที่ไม่รู้หรือไม่เข้าใจ หรือเพื่อตัดความรำคาญก็แล้วแต่ คือการเรียกเก็บค่าเสียหายส่วนแรก ที่ใคร ๆ ก็มักจะเรียกกันอย่างติดปาก ว่าค่า “เอ็กเซฟ”

ในการเรียกเก็บค่าเสียหายส่วนแรก หรือที่เรียกเป็นภาษอังกฤษว่า Excess (อ่านว่า เอ็กเซส ไม่ใช่เอ็กเซฟ)  บริษัทประกันภัยจะเรียกเก็บในกรณีใดได้บ้าง

ในการเรียกเก็บค่าเสียหายส่วนแรกนี้ ไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ  ก็จะมาเรียกเก็บกันง่าย ๆ นะครับ  มันมีหลักการเรียกอยู่จะเล่าแจ้งแถลงไขให้ฟังดังนี้
ค่าเสียหายส่วนแรกที่ผู้เอาประกันจะต้องรับผิดชอบเอง  แยกออกเป็น  2  ส่วนคือ

1. ค่าเสียหายส่วนแรก สำหรับความเสียหายของตัวรถยนต์ที่เอาประกัน
2. ค่าเสียหายส่วนแรกสำหรับความเสียหายของทรัพย์สินของบุคคลภายนอก


ทีนี้มาดูกันว่าผู้เอาประกันจะต้องรับผิดชอบค่าเสียหายส่วนแรกในกรณีใดบ้าง

                สำหรับค่าเสียหายส่วนแรก ในความเสียหายของตัวรถยนต์ประกัน ที่ผู้เอาประกันจะต้องรับผิดชอบเองมีในกรณีดังนี้

1.  ผู้เอาประกันต้องรับผิดผิดชอบค่าเสียหายจำนวน 1,000.-บาทแรกของความเสียหายที่เกิดจากการชนและผู้เอาประกันไม่สามารถแจ้งให้บริษัททราบถึงคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้  หมายความว่า  หากมีการเกิดเหตุรถที่ทำประกันไปเฉี่ยวชนกับรถคันอื่น หรือถูกรถคันอื่นมาเฉี่ยวชน  ขอย้ำว่าต้องเป็นการชนกับรถยนต์ (หรือรถที่เดินด้วยเครื่องจักรกล)  แล้วผู้เอาประกันไม่สามารถแจ้งให้บริษัททราบได้ว่าคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นใคร    ในกรณีนี้ ผู้เอาประกัน ต้องรับผิดชอบเองจำนวน 1,000.-บาทแรกของความเสียหายที่เกิดขึ้น  เช่น ถ้าการเกิดเหตุครั้งนั้นประเมินต้องเสียซ่อมรถประกันเป็นเงิน  6,000.-บาท ผู้เอาประกันก็ต้องชำระเอง  1,000.-บาท แต่ถ้ามีความเสียหายไม่เกิน  1,000.-บาท  ผู้เอาประกันก็ต้องชำระเองทั้งหมด

ในอีกกรณีหนึ่งคือการที่รถประกันได้รับความเสียหายจากการถูกกลั่นแกล้ง เช่นถูกขีดข่วน แล้วไม่สามารถสืบทราบได้ว่าเป็นการกระทำของใครดังนี้ต้องรับผิดชอบเองในความเสียหายแต่ละเหตุการณ์  ๆ ละ 1,000 บาท

2.  ในกรณีที่ในการตกลงทำประกันภัยนั้น ผู้เอาประกันภัยได้ทำความตกลงกับบริษัท ที่รับประกันว่า หากการเกิดอุบัติเหตุนั้น เป็นเพราะความประมาทของผู้เอาประกัน ผู้เอาประกันตกลงที่จะจ่ายค่าเสียหายส่วนแรกเป็นจำนวนเงิน......(ระบุจำนวน) สำหรับการเกิดเหตุแต่ละครั้ง ดังนี้ เมื่อใดที่รถคันที่ทำประกันนี้ ประสบอุบัติเหตุแล้วละก็  ก็ต้องมาพิจารณากันว่าเหตุที่เกิดนั้นเป็นเพราะความประมาทของผู้ขับขี่รถคันที่ประกันหรือไม่  ถ้าเป็นความประมาทของผู้ขับขี่แล้ว  ผู้เอาประกันก็ต้องรับผิดจ่ายค่าเสียหายส่วนแรกตามจำนวนที่ระบุไว้  โดยบริษัทประกันภัย จะจ่ายเฉพาะส่วนที่เกินจากความเสียหายส่วนแรก ที่ระบุไว้นั้น  เช่น รถคันที่ทำประกันระบุว่าจะรับผิดชอบในความเสียหายส่วนแรก เป็นเงิน 2,000.-บาท ของความเสียหายแต่ละครั้ง  ถ้าเกิดอุบัติเหตุ ต้องซ่อมรถประกัน เป็นเงิน 2,000.-บาท  ดังนี้ ผู้เอาประกันก็ต้องควักกระเป๋าจ่ายเองทั้งหมด  แต่ถ้ามีค่าเสียหาย 10,000.-บาทผู้เอาประกันก็จ่ายแค่ 2,000.-บาท ส่วนอีก 8,000.-บาท บริษัทประกันก็ต้องดำเนินการชดใช้ให้

แต่ถ้าในการเกิดเหตุนั้น “ เกิดจากการกระทำของบุคคลภายนอกและรู้ตัวผู้ต้องรับผิดตามกฎหมาย ซึ่งมีผลทำให้ผู้รับประกันมีสิทธิที่จะเรียกค่าเสียหายที่บริษัทได้จ่ายไปคืนจากบุคคลภายนอกได้” ผู้เอาประกันก็ไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายส่วนแรกนั้น    ดังนั้น ในกรณีที่มีการตกลงว่าผู้เอาประกันตกลงที่จะจ่ายค่าเสียหายส่วนแรก สำหรับการเกิดเหตุแต่ละครั้งนั้น ถ้าความเสียหายที่เกิดขึ้นเกิดจากการกระทำของบุคคลภายนนอก และรู้ตัวผู้กระทำละเมิด  และทำบริษัทที่รับประกันสามารถใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียได้  ผู้เอาประกันก็ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายส่วนแรกนี้

3.  ผู้เอาประกันต้องรับผิดชอบในความเสียหายต่อตัวรถที่เอาประกันจำนวนเงิน 6,000.-บาทแรกของความเสียหาย ที่เกิดจากการชน การคว่ำ ในกรณีที่ในทำประกันภัยได้มีการระบุชื่อผู้ขับขี่ไว้ ในกรมธรรม์  แต่ในการเกิดเหตุครั้งนั้น ผู้ขับขี่ในขณะที่เกิดเหตุ  ไม่ใช่ผู้ขับขี่ตามที่ระบุในกรมธรรม์  แต่ในเงื่อนไขข้อนี้ ผู้เอาประกันอาจจะไม่ต้องรับผิดชอบในความเสียหายต่อตัวรถที่เอาประกันจำนวนเงิน 6,000.-บาทแรกของความเสียหายก็ได้  ถ้าในการเกิดเหตุครั้งนั้น  เป็นความประมาทของบุคคลภายนอก และรู้ตัวผู้ที่ต้องรับผิดตามกฎหมาย ซึ่งมีผลทำให้บริษัท ที่รับประกันภัยมีสิทธิ ที่จะเรียกค่าเสียหายที่บริษัทได้จ่ายไปจากบุคคลภายนอกได้                                                                         
สำหรับค่าเสียหายส่วนแรก ในความเสียหายของตัวรถยนต์ประกัน ที่ผู้เอาประกันจะต้องรับผิดชอบเองก็มีเพียง 3 กรณี ดังกล่าว และถ้าผู้เอาประกันคนใดโชดดี ที่จะต้องรับผิดชอบ ทั้ง 3 กรณี  ท่านก็ให้นับรวมกันทั้งหมด หมายความว่าความรับรับผิดในแต่ละข้อ จะแยกเป็นเอกเทศต่อกัน  ถ้าเข้าเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อก็ต้องนับรวมกันทั้งหมด  แต่บริษัท ประกันภัยจะต้องจ่ายแทนผู้เอาประกันภัยไปก่อนย้ำว่า “ตามเงื่อนไขในกรมธรรม์บริษัทประกันภัยต้องจ่ายไปก่อน”  แล้วจึงค่อยมาเรียกคืนภายหลัง  ซึ่งผู้เอาประกันภัยต้องจ่ายคืนให้บริษัทประกันภัย ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือเรียกร้องจากบริษัท

 

ค่าเสียหายส่วนแรกสำหรับความเสียหายของทรัพย์สินของบุคคลภายนอก

ประการที่ 1 ผู้เอาประกันต้องรับผิดชอบในความเสียหายต่อทรัพย์สินบุคคลภายนอก จำนวน 2,000.-บาทแรกของความเสียหาย ในกรณีที่ในการเกิดเหตุนั้นเป็นการใช้รถยนต์นอกเหนือจากที่ระบุไว้ในหน้าตารางกรมธรรม์ เนื่องจากที่หน้าตารางกรมธรรม์ จะมีข้อความในข้อ ความระบุว่ารถยนต์นั้นใช้งานอย่างไร เช่น “ใช้ส่วนบุคคลไม่ใช้รับจ้างหรือให้เช่า”  และในขณะเกิดเหตุได้นำรถยนต์ไปรับจ้างหรือให้เช่าแล้ว ผู้เอาประกันก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายสำหรับความเสียหายในทรัพย์สินของบุคคลภายนอกจำนวน 2,000.-บาทแรก   แต่มีข้อสังเกตว่า ถ้าระบุในกรมธรรม์ว่า  “ใช้รับจ้างหรือใช้เช่า” แล้วแต่การใช้ได้นำมาใช้เป็นส่วนบุคคลคือ ในขณะเกิดเหตุ ไม่ได้นำไปใช้รับจ้างหรือให้เช่า  ดังนี้ผู้เอาประกันก็ไม่ต้องรับผิดชอบในค่าเสียหายส่วนแรกแต่อย่างใด

ประการที่ 2  ผู้เอาประกันต้องรับผิดชอบในความเสียหายต่อทรัพย์สินบุคคลภายนอก ตามจำนวนที่ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์

นอกจากนี้ยังมีสาระสำคัญในส่วนอื่น ๆ อีกซึ่งจะนำมาเสนอในโอกาสต่อ ๆ ไป

 

 

หน้าหลัก | ประกันภัยรถยนต์ | ประกันภัยขนส่ง | ประกันอัคคีภัย | ประกันภัยเบ็ดเตล็ด | สอบถามปัญหา | ติดต่อเรา

Index motor fire miscellaneous marine contact_us board youtube link facebook